หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกระฉูด จากปัญหาหนี้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนดสร้างภาระให้ผู้คนลืมตาอ้าปากไม่ได้ซักที เพราะงั้นมาจบปัญหาหนี้ดอกเบี้ยมหาโหด ด้วยการทำความเข้าใจกับกฎหมายต้องรู้ ห้ามเก็บดอกเบี้ยเกินที่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ปกติหนี้นอกระบบเก็บดอกเบี้ยเท่าไหร่ และเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดมีความผิดหรือไม่ เพื่อป้องกันการตกเป็นทาสในวังวนของหนี้นอกระบบแบบผิดกฎหมาย
ห้ามเก็บดอกเบี้ยเกินที่เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ไม่ใช่หนี้นอกระบบทุกแบบที่จะผิดกฎหมาย เพราะคำว่า หนี้นอกระบบ คือ การกู้ยืมที่ไม่ผ่านระบบในสถาบันการเงินหรือธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ทำให้ผู้คนที่หลงไปใช้บริการหนี้นอกระบบต้องพบเจอกับความเสี่ยง เช่น ต้นเงินมาจากเงินผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยมหาโหด วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ แล้วลูกหนี้จะไปแจ้งความก็ไม่กล้าทำได้แค่ก้มหน้าใช้หนี้ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ต่อไป
ปัญหาใหญ่ที่สุดของหนี้นอกระบบคือ การเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะผู้คนไม่เข้าใจกฎหมายคิดว่า ตกลงไว้เท่าไหร่ก็ต้องตามนั้น แต่ความจริงแล้วมีการกำหนดไม่ให้เก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี” และ มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบท กฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี”
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ตกลงดอกเบี้ยไว้ในสัญญา (ตามกฎหมายปรับใหม่ในปี 2564) จะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ถ้ามีการตกลงดอกเบี้ยกันไว้ จะไม่สามารถกำหนดเกินกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปีหรือ 1.25 ต่อเดือนได้ แม้กฎหมายแพ่งจะเขียนว่า ถ้ากำหนดไว้เกินจะถูกปรับลดลงมา แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และ 2560 กำหนดโทษอาญาไว้ ทำให้การคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราจะถือว่าผิดกฎหมายและส่วนของดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งหมด
ปกติหนี้นอกระบบเก็บดอกเบี้ยเท่าไหร่
เท่าที่เคยเจอ หนี้นอกระบบจะคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดกันทั้งนั้น มีตั้งแต่ร้อยละ 5-10 ต่อเดือนไปจนถึงเก็บดอกเบี้ยโหดร้อยละ 30 ต่อวัน กำไรหมุนต่อวันหลักล้านเงินเยอะพอจะไปจ้างแก๊งหมวกกันน็อคมาข่มขู่ลูกหนี้เรียงคนเลยทีเดียว
ผลของหนี้ที่มีการตกลงดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด
ส่วนผลของหนี้นอกระบบตามสัญญากู้ยืมที่ตกลงดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด ไม่ได้แปลว่า ลูกหนี้จะสามารถหัวหมอแล้วไม่จ่ายหนี้ทั้งหมดได้ เพราะส่วนของเงินต้นที่รับไปแล้วยังต้องคืนอยู่ เจ้าหนี้สามารถฟ้องให้ลูกหนี้ชำระตามสัญญาได้ จะมีแค่เพียงส่วนของดอกเบี้ยที่กลายเป็นโมฆะ เพราะตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) กำหนดโทษให้แก่ผู้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้ส่วนของดอกเบี้ยเป็นโมฆะ (หมายถึง จ่ายแต่เงินต้น ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยนั่นล่ะ)
สำหรับในกรณีที่ลูกหนี้นอกระบบจ่ายดอกเบี้ยมหาโหดไปบ้างแล้ว เคยมีฎีกาจากที่ประชุมใหญ่ ฎีกาที่ 5376/2560 ถือว่า การชำระดอกเบี้ยเกินอัตรา จำเลยจะเรียกร้องให้คืนเงินก็ไม่ได้ แต่ผู้ให้กู้ก็ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเหล่านั้นเหมือนกัน เพราะมันโมฆะไปแล้ว ผลคือ เลยต้องนำดอกเบี้ยผิดกฎหมายไปหักกับเงินต้นและไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดกฎหมายต่อ แต่ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้จนเกินต้นไปแล้วก็จะเรียกเงินที่จ่ายไปคืนไม่ได้เหมือนกัน เพราะกฎหมายถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ
เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดมีความผิดหรือไม่
นอกจากนี้ เจ้าหนี้นอกระบบยังอาจมีโทษอาญาตามกฎหมายจากการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 มีโทษหนักถึงขั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ สามารถเอาหลักฐานไปแจ้งความกับตำรวจได้เลย
เชื่อว่า หลังจากที่ทุกคนได้อ่านบทความนี้คงจะเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหนี้นอกระบบที่มีปัญหาดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากขึ้น เพราะงั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองมองหาสินเชื่อในระบบที่กำหนดดอกเบี้ยไม่สูงแบบขูดเลือดขูดเนื้อจนเกินไป กับ RABBIT CARE คัดสรรสินเชื่อที่ดีที่สุดจากผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลชั้นนำระดับประเทศ ปลอดภัยและเป็นธรรม ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์แน่นอน